แม็กกาซีนพระ บทความและสาระความรู้

สรงน้ำพระในบ้าน เสริมสิริมงคลในวันสงกรานต์ ทำอย่างไร ดูขั้นตอนและการสวดมนต์
7 เมษายน 2566    23,042

เทศกาลสงกรานต์ หรือวันปีใหม่ของไทย ในวันสงกรานต์ตามประเพณี ในช่วงวันที่ 13-15 เมษายน ของทุกปี สรงน้ำพระในบ้าน เสริมสิริมงคล ทำอย่างไรกันบ้าง สามารถทำได้ทั้งที่บ้านได้อย่างง่ายๆ บอกครบทั้งขั้นตอนและการสวดมนต์

เทศกาลสงกรานต์ หรือ วันปีใหม่ของไทย ในช่วงวันที่ 13-15 เมษายน ของทุกปี  วิธีการ "สรงน้ำพระ" ในวันสงกรานต์ตามประเพณี ทำอย่างไรกันบ้าง

การสรงน้ำพระในบ้าน โดยการสรงน้ำพระ ตามหลักศาสนาพุทธแล้ว ใช้คำว่าถวายเครื่องเถราภิเษก (สรงน้ำพระ)  เป็นการบูชาบุคคลที่ควรบูชา คือ พระพุทธเจ้า ด้วยเครื่องของหอมต่าง ๆ  คือ น้ำสะอาด และดอกไม้  สามารถทำได้ทั้งที่บ้านได้อย่างง่ายๆ


อานิสงส์ การสรงน้ำพระ มีดังต่อไปนี้

1. การสรงน้ำพระตามความเชื่อ โดยอานิสงส์ของจะช่วยชำระล้างจิตใจให้ชุ่มชื่น ใสสะอาด ด้วยบุญกุศลแห่งความศรัทธา ชำระล้างผู้ที่คิดร้ายด้วยอคติจิตออกไป ชำระความรุ่มร้อน นำพาแต่ความสงบร่มเย็นมาให้

2. บุญ คือ ความสุขใจ เบิกบานใจ ชุ่มชื่นใจ ความสะอาดของจิตใจ อันเกิดจากความเลื่อมใสในสิ่งที่ตนเคารพแล้วกระทำการบูชา ดังพระบาลีว่า "นัตถิ จิตเต ปะสันนัมหิ อัปปะกา นามะ ทักขิณา เมื่อจิตเลื่อมใสแล้ว ผลบุญไม่ชื่อว่าน้อย"

3. การบูชา คือ มองเห็นความดีของผู้อื่น เช่น มองเห็นว่าพระพุทธเจ้ามีดี อย่างไรพอเห็นความดีแล้วเราจึงได้มาบูชาความดีของพระพุทธเจ้า เป็นกุศโลบายในการสอนพุทธประวัติได้ อีกอย่าง 


วิธีปฏิบัติ การอัญเชิญพระบูชาเพื่อสรงน้ำ

1. การกล่าวขอขมาก่อนนำพระบูชาลงมา

ควรกล่าวขอขมาทุกครั้ง เพื่อให้ท่านอภัยในสิ่งที่เราทำไป อาจไม่ถูกไม่ควร หรือเพื่อทำแล้วไม่ให้เกิดโทษนั่นเอง (ตามความเชื่อแต่ละท้องถิ่นอาจแตกต่างกันไป เช่น มีการเตรียมเครื่องขอขมามาใช้ด้วย)
 
-    ตั้ง นโม 3 จบ นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ 
-    บทสวด ขอขมากรรม 

ระตะนัตตะเย ปะมาเทนะ, ทวาระตะเยนะ กะตัง, 
สัพพัง อะปะราธัง ขะมะตุ โน ภันเต,
อาจะริเย ปะมาเทนะ, ทวาระตะเยนะ กะตัง,

สัพพัง อะปะราธัง, ขะมะตุ โน ภันเต 
 

(คำแปล กายกรรม 3 วจีกรรม 4 มโนกรรม 3 ที่ข้าพเจ้าได้ประมาทพลาดพลั้งในพระรัตนตรัย
ด้วยความตั้งใจก็ดี ไม่ตั้งใจก็ดี ต่อหน้าก็ดี ลับหลังก็ดี ขอพระรัตนตรัยได้โปรดยกโทษให้ข้าพเจ้าด้วยเถิด)

-    หลังจากนั้นจึงอัญเชิญพระพุทธรูปเพื่อสรงน้ำ


2. การสรงน้ำพระ

ก่อนสรงน้ำ ควรทำความสะอาดองค์ท่าน จากนั้นจึงตั้งจิตกล่าวคำอธิษฐานสรงน้ำพระ

-  ตั้ง นโม 3 จบ นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ 
-  กล่าวคำอธิษฐานสรงน้ำ

อิมินา สัญจะเนเนวะ โรโค โสโก อุปัททะโว 
นิพพันตุ สัพพะโส เอเต วุขี โหนตุ นิรันตะรัง 

(คำแปล เดชะ ข้าสรงน้ำ พระชุ่มฉ่ำตลอดกาล ทุกข์โศกโรคภัยพาล อันตรธานเป็นสุขเทอญ
หลังจากกล่าวคำอธิษฐานเสร็จแล้ว จึงตักน้ำสรงพระพุทธรูปด้วยความเคารพต่อไป)

 อย่างไรก็ตาม สำหรับคำอาราธนา คำกล่าวขอขมา หรือคำอธิษฐาน ข้างต้นนั้น อาจแตกต่างกันไปในแต่ละท้องถิ่น หรืออาจจะอธิษฐานเพื่อปรารถนาให้ตนเองเป็นสุขอย่างไรก็กล่าวอย่างนั้น